You Lead Me Down, to the Ocean

ทัศ ปริญญาคณิต, WayMagazine, 4 July 2019

ซากรถถังรุ่น 30T69-2 จากสมัยสงครามเย็นที่ถูกปกคลุมด้วยปะการังสีเขียวจอดสงบแน่นิ่งอยู่ที่ความลึก 22 เมตรของก้นทะเลอ่าวไทยแถบจังหวัดนราธิวาส ฝูงปลาตัวเล็กตัวน้อยว่ายรายล้อมราวกับคอยเป็นยามเฝ้าระวังให้กับซากของอดีตอันแสนใกล้ ภาพฉายดังกล่าวเป็นผลงานแรกที่ดึงดูดสายตาของผู้ชมงานนิทรรศการศิลปะ ‘You Lead Me Down, to the Ocean’ โดย ธาดา เฮงทรัพย์กูล คิวเรทโดย ธนาวิ โชติประดิษฐ

 

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศจีนทำให้สหรัฐอเมริกาเริ่มตื่นตัวและเข้ามามีอิทธิพลต่อภูมิภาคเอเชียอย่างชัดเจน โดยที่สหรัฐอเมริกามองว่าประเทศไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการต่อสู้กับระบอบคอมมิวนิสต์ที่เริ่มขยายตัวมายังเวียดนามและกัมพูชา รัฐบาลไทยในสมัยนั้นตอบสนองนโยบายจากสหรัฐเพื่อรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหาร เช่น มีการใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศ หรือการร่วมมือทางการทหารที่ทำให้มีทหารอเมริกันจำนวนมากเดินทางเข้ามาประจำอยู่ในไทย

 

ธาดาและธนาวิต่างแบ่งปันเรื่องราวของตน ธาดาเกิดและเติบโตที่นครราชสีมา ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหนึ่งในที่ตั้งฐานทัพอากาศของสหรัฐอเมริกาในสมัยนั้น ชีวิตวัยเด็กของเขารายล้อมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรมและการเมืองของยุคสมัยที่ รศ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกว่า ‘ยุคอเมริกันสร้างสยาม’

 

พ่อของธาดาชอบฟังเพลงร็อคแอนด์โรล ในสายตาของลูกชาย พ่อมีคาแรคเตอร์ที่ดูไม่เป็นคนอีสานเท่าไหร่นัก ครอบครัวของเขาย้ายจากกรุงเทพฯ ไปอยู่โคราชเพื่อตามล่าความเจริญที่มาพร้อมการเข้ามาของทหารอเมริกัน แต่ปัจจุบันอาคารและตึกต่างๆ ไม่ได้แตกต่างไปจากยุคนั้นเท่าไหร่นัก กาลเวลาของมันเหมือนกับถูกแช่แข็งไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

 

“คนรุ่นยายที่อยู่โคราชจะไม่กินอาหารอีสาน รุ่นยายเรากินอาหารอเมริกัน เขาไม่กินอาหารอีสานกันเลย โคราชมีวัดเยอะเพราะว่าคนที่เปิดซ่องก็จะรู้สึกผิดก็จะไปบริจาคเงินสร้างวัดในยุคนั้น อันนี้เราว่ามีส่วนนะในเรื่องวัดที่โคราช เพราะโคราชมีวัดเยอะมาก คนที่รู้จักเขาก็เปิดซ่องในรุ่นเขา รุ่นยาย เขาเปิดซ่องแล้วก็บริจาคเงินสร้างวัด หรือการแต่งตัวใส่กางเกงยีนส์แบบคาราบาวก็เป็นผลพวงมาจากการแต่งตัวแบบฮิปปี้ของอเมริกัน’ ธาดาเล่า

 

ธนาวิเองก็มีประสบการณ์ที่คล้ายกับธาดา เธอเป็นคนสระบุรีซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของค่ายทหารเช่นกัน เธอพบเห็นมรดกทางวัฒนธรรมและการเมืองที่ไทยได้รับสืบทอดมาจากสหรัฐอเมริกา เธอเล่าถึงผลกระทบทางวัฒนธรรมตั้งแต่วงการสื่อไทยที่ได้รับการสนับสนุนโดย USIS (United States Information Service-สำนักข่าวสารสหรัฐ) ผลิตสื่อตั้งแต่ภาพยนตร์ การ์ตูน โปสเตอร์ เพื่อต่อต้านแนวคิดคอมมิวนิสต์ ความนิยมในศิลปะตามแกลเลอรีของชาวอเมริกัน พวกเขานิยมซื้อภาพทิวทัศน์หรือวิถีชีวิตคนไทยกลับไปเป็นของที่ระลึก หรือว่าการเกิดขึ้นของพัฒน์พงศ์ โสเภณี เมียเช่า และข้าวผัดอเมริกันซึ่งมีที่มาจากอาหารเช้าสไตล์อเมริกัน แต่เปลี่ยนจากขนมปังมาเป็นข้าวแทน

“นมไทย-เดนมาร์คมีฟาร์มใหญ่อยู่ที่นั่น ทุกปีเขาก็จะมีงานคาวบอยที่ปากช่อง มันจะมีงานฟาร์มโคนม ซึ่งจะไม่ได้มีแต่นมกับวัว เขาจะมาใส่ชุดคาวบอยกันเพราะว่าคาวบอยก็ใส่ชุดขี่ม้าไล่วัว มันจะมีแฟชั่นใส่ชุดคาวบอยกันตั้งแต่เรายังเด็กๆ จนถึงทุกวันนี้ ถ้าเป็นคนแก่ๆ เขาก็ยังแต่งตัวแบบนี้อยู่ กลิ่นอายความเป็นคาวบอยมันก็อยู่ ปีที่แล้วไปแอลเอพ่อกับลุงก็จะฝากให้ซื้อหมวกคาวบอยกลับมา” เธอพูดถึงแฟชั่นคาวบอยที่คนไทยนิยมที่ปากช่อง

 

พวกเขาทั้งสองรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างค่อยเป็นค่อยไปและนำมันมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการดังกล่าว นอกจากจะไปลงพื้นที่ที่โคราชและนราธิวาสแล้ว ธาดาเดินทางไปหอจดหมายเหตุแห่งชาติกับหอสมุดแห่งชาติเพื่อค้นหาข้อมูลผ่านหนังสือและข่าวในสมัยนั้น

 

ตัวงานนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับร่องรอยและสิ่งตกค้างที่สงครามเวียดนามหลงเหลือไว้ในไทยอย่างไม่อาจหวนคืน ซึ่งถึงแม้ในปัจจุบันเราอาจจะเคยเห็นแต่ก็อาจจะไม่เคยรับรู้ ตั้งแต่อำนาจทางการทหารไปจนถึงร่องรอยของความรู้สึกนึกคิดของคนตัวเล็กตัวน้อยในยุคนั้น ที่ถูกบันทึกผ่านจดหมายเก่าสีเหลืองอ่อน

ชื่องาน ‘You Lead Me Down, to the Ocean’ เมื่อเอาไปค้นในกูเกิลจะพบว่าเป็นเนื้อร้องของเพลง ‘The Ocean’ โดย ริชาร์ด ฮาวลีย์ (Richard Hawley) ประโยคดังกล่าวให้ความรู้สึกโรแมนติกกับผู้ชมในตอนแรก ให้ภาพราวกับคู่รักที่ไปเที่ยวทะเลด้วยกัน นอกจากนั้นยังทิ้งคำถามน่าคิดไว้ว่า ในงานนิทรรศการครั้งนี้ใครคือ ‘You’ ใครคือ ‘Me’ ความสัมพันธ์ของฉันและเธอเป็นเช่นไร แต่ถึงอย่างไรก็ตาม สิ่งที่ธาดานำเสนอนั้นกลับไม่ได้หอมหวาน นิทรรศการพาเราไปสู่คำนิยามอีกแบบของท้องทะเลพร้อมกับนำเสนอประเทศไทยภายใต้เงามืดของสงครามเวียดนาม

 

 

นิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ห้องให้ผู้ชมได้เข้าชมเป็นลำดับ น่าสังเกตว่ามันไม่ใช่นิทรรศการที่ผู้ชมต้องมีปฎิสัมพันธ์กับตัวงาน ผู้ชมเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ (witness) ที่ตลอดทั้งงานได้ทำการเดินทางระยะสั้นในพื้นที่เล็กๆ ที่ตัดขาดจากโลกภายนอกและถูกเชื้อเชิญให้ดำลงไปใต้มหาสมุทร ซึ่งปกติทำหน้าที่ห่อหุ้มปกคลุมจนเรามองไม่เห็นสิ่งใดๆ ที่อยู่ภายใต้

 

ก่อนเข้าสู่ห้องแรก เราจะถูกบังคับให้เดินผ่านช่องทางเข้าที่ถูกปกคลุมด้วยม่านดำสนิท ค่อยๆ ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่าเราอยู่ในพื้นที่ใหม่ ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ อีกต่อไป ตัดขาดจากเสียงรถยนต์บนถนน เสียงรถไฟฟ้าของสถานีราชดำริ ตลอดทั้งนิทรรศการไม่มีกระจกหรือประตูที่เชื่อมต่อเรากับสิ่งที่อยู่ภายนอกแกลเลอรีอีกเลย

ทันทีที่เข้ามาในห้องแรก ความสนใจของเราจะถูกดึงไปที่ภาพฉายขนาดใหญ่ของซากรถถังรุ่น 30T69-2 ที่ถูกทิ้งไว้ที่ก้นทะเลอ่าวไทยเพื่อปลูกปะการัง อีกฝั่งของห้องเราจะพบกับจอทีวีขนาดเล็กที่ฉายข้อความจากจดหมายแลกเปลี่ยนระหว่างสามีภรรยาคู่หนึ่ง สามีเป็นทหารในสงครามเวียดนาม ส่วนภรรยาคอยดูแลทั้งลูกและรายจ่ายในบ้าน ทั้งสองแลกเปลี่ยนชีวิตประจำวันของตนในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างตั้งแต่การปะทะกับทหารเวียดนามในป่าลึก การเติบโตของลูกๆ ที่เริ่มเขียนจดหมายหาพ่อได้ จนถึงความลำบากใจของภรรยาที่ไม่ได้รับค่าสวัสดิการทหารของสามี

 

ธาดาสนใจประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกในแง่มุมของคนทั่วไป ซึ่งแตกต่างจากประวัติศาสตร์กระแสหลักของประเทศไทยที่มักมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่พระมหากษัตริย์ เขากล่าวว่า “มันเป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัวที่ไม่มีใครได้รับรู้ ซึ่งถ้าเราไปพิพิธภัณฑ์ต่างประเทศเราจะได้เจอจดหมายของทหารต่างๆ ที่ไปรบ แต่ของไทยหอจดหมายเหตุมันไม่มีอะไรแบบนี้ เราได้เจอก็รู้สึกว่ามันน่าสนใจมากๆ เป็นภาษาเขียนของคนจริงๆ แล้วแบบมันเห็นอะไรหลายๆ อย่างมาก”

ภาพของรถถังที่จอดตายสนิทใต้พื้นทะเลทำให้เรานึกถึงสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ในอดีตที่ยังส่งผลจนถึงปัจจุบันไม่ว่าจะดีหรือร้ายก็ตาม นอกจากนั้นมันทำให้รู้สึกว่าเรากำลังอยู่ใต้ทะเลลึกที่สวยงาม แต่ถ้าหากอยู่นานเกินไปเราจะขาดอากาศหายใจในที่สุด

รถถังในภาพเป็นรถถังที่รัฐบาลไทยซื้อมาจากจีนในช่วงปี 2530 ขณะที่เกิดกรณีพิพาทไทย-เวียดนามที่ชายแดนกัมพูชา ท้ายที่สุดในปี 2553 รถถังจำนวน 25 คันถูกบริจาคและขนย้ายจากค่ายทหารที่โคราชลงไปที่นราธิวาสในโครงการพระราชดำริปะการังเทียมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันกลายเป็นจุดดำน้ำสาธารณะ

 

แม้จะดูไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ผลงานทั้งสองชิ้นให้ความรู้สึกขัดแย้งกันอย่างน่าพูดถึง จอทีวีที่แสดงข้อความในจดหมายมีขนาดเล็ก ส่วนจดหมายที่ถูกคัดมาทำเป็นวิดีโอบนทีวีก็เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากจดหมายทั้งหมดที่สามีภรรยาโต้ตอบกันระหว่างปี 1967-1968 วิดีโอฉายภาพของวัตถุบางอย่างที่มีสีเขียวอมเหลืองขณะกำลังละลาย เรามองไม่ออกว่ามันเป็นวัตถุอะไร เพราะภาพถูกขยายออกเป็นระดับพิกเซล ราวกับว่าไม่ว่าเราจะพยายามมองไปในความทรงจำของคนอื่นแค่ไหนเราก็ไม่สามารถเห็น เข้าใจ หรือจับต้องมันทั้งหมดได้อยู่ดี เราไม่อาจรู้จักสามีและภรรยาคู่นี้ได้ผ่านการอ่านจดหมาย ในขณะที่ภาพรถถังนั้นถูกฉายเป็นภาพขนาดใหญ่ เมื่อแรกเห็นเราเข้าใจได้ทันทีว่ามันคือรถถังที่จอดอยู่ใต้ทะเล สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์มีสถานะเป็นภาพที่ชัดเจนหากเราตั้งใจที่จะมองมัน

ห้องที่สองเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเล็กที่จัดแสดงจดหมายจำนวน 7 ฉบับของสามีภรรยาคู่เดิม ข้อความในจดหมายถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวสภาวะความรู้สึกของกลุ่มคนไทยที่มีชีวิตอยู่ในยุคนั้น

 

เราสามารถเห็นศรัทธาในพลังเหนือธรรมชาติของคนไทยเมื่อตัวสามีเผชิญกับภัยอันตรายของสงคราม เขาเขียนในจดหมายถึงภรรยาว่า “แล้วก็แว่วว่ามีใครมากระซิบข้างหูว่ามาช่วยแล้วไม่ต้องกลัว” เห็นอุดมการณ์ของทหารไทยในจดหมายฉบับหนึ่งที่สามีเขียนถึงภรรยา มีคำขวัญของหน่วยรบจงอางศึกติดอยู่บนหน้ากระดาษ ‘เรารบเพื่อเกียรติศักดิ์ไทย’ และ ‘แม้ชาติย่อยยับอับจน จงอางศึก ทุกคนสู้ตาย!’ หรือผลกระทบของการขาดหายไปของพ่อในครอบครัวเมื่อลูกสาวเขียนจดหมายถึงพ่อ “พ่อขา อ้อยคิดถึง อยากให้พ่อกลับมาหาลูกเร็วๆ”

 

ธาดาเล่าว่าเขาพบจดหมายผ่านการลงพื้นที่ที่โคราช เขาสืบหาข้อมูลผ่านร้านขายของเก่า คนที่ขายของทหาร หรือผ่านเพื่อนของพ่อที่ขายของเก่าซึ่งนอกจากจะนำพาเขาไปพบจดหมายแล้ว เขาพบหลักฐานชิ้นต่างๆ มากมายตั้งแต่ เสื้อผ้าทหารเก่า รูปถ่ายทหาร และตัวจุดชนวนระเบิดที่กองทัพขายเป็นเศษเหล็ก

จดหมายทำให้เราได้เห็นสภาพจิตใจของทั้งคู่มากขึ้น แต่เมื่อใช้เวลาในห้องนี้นานเท่าไหร่ พื้นที่ของห้องกลับทำให้เรารู้สึกอึดอัด ไม่ว่าจะด้วยความจงใจหรือข้อจำกัดของพื้นที่ก็ตามแต่ ห้องดังกล่าวมีขนาดเล็กและแคบเหมือนไม่ต้อนรับผู้ชม หากห้องที่สองทำหน้าที่จัดเก็บความทรงจำในจดหมาย ผู้ชมก็เป็นเพียงคนนอกของความทรงจำ พวกเขาสามารถเข้าถึงแต่ไม่สามารถอยู่แบบถาวรได้ ก็เหมือนกับใต้ทะเลลึกที่เราไม่สามารถทนกลั้นอากาศหายใจได้ตลอดไป

ห้องที่สามจัดแสดงภาพถ่ายกลุ่มบุคคลในเรือนร่างเปลือยเปล่า สีและบรรยากาศของภาพทำให้เราอนุมานได้ว่าภาพถ่ายของมนุษย์ทั้ง 4 เป็นภาพถ่ายที่ถูกถ่ายในยุคปัจจุบัน มันให้ความรู้สึกไม่เข้าพวกกับห้องอื่นๆ เพราะมนุษย์เปลือยทั้ง 4 ยังคงมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับเรา แต่ถึงอย่างไรก็ตามห้องที่สามยังคงถูกเชื่อมโยงเข้ากับงานอย่างเห็นได้ชัด ห้องที่สามและห้องแรกถูกเชื่อมต่อกันด้วยกระจกใส เรามองเห็นเสมอว่ามีอะไรเกิดขึ้นในห้องแรก และเมื่อมองกระจกเราจะเห็นว่าภาพของรูปทั้ง 4 สะท้อนบนกระจกจนเกิดเป็นภาพทับซ้อนกันกับภาพฉายรถถังรุ่น 30T69-2 อย่างน่าแปลกใจ ราวกับว่าพวกเราในปัจจุบันก็เป็นเหมือนสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์เมื่อเกือบ 60 ปีที่แล้ว ผลกระทบของอดีตส่งมาที่เราและเหล่ามนุษย์เปลือยในรูปโดยไม่มีท่าทีว่าจะหยุดอยู่เพียงเท่านี้ และพวกเราเองก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าชีวิตเราได้รับผลกระทบจากมันมากน้อยแค่ไหน

 

 

ธนาวิกล่าวถึงการรับรู้สงครามเวียดนามของคนไทยในปัจจุบันที่มักมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว น้อยนักที่จะรู้บทบาทของไทยกับสงครามเวียดนามในสมัยนั้น “เขาอาจจะเคยได้ยินชื่อ แต่เขาก็ไม่ได้รู้ว่ามัน (สงครามเวียดนาม) คืออะไรยังไง หรือมันมีบทบาทยังไง ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเรื่องของความอ่อนด้อยทางการศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของไทยด้วยก็ได้ คือไม่ใช่แค่เวียดนามหรอก ลาวซึ่งมีระเบิดเต็มประเทศไปหมด ทุกวันนี้ก็ยังกู้ไม่หมด มันก็หอบไปจากประเทศเรา เพราะว่าเราเป็นโฮสต์ให้กับทหารอเมริกัน คือเราทำอะไรไว้กับเพื่อนบ้านเยอะมาก แต่ว่าเราก็ไม่ค่อยรู้สึกหรอกว่าเราผิดเพราะว่าเราก็ไม่ค่อยเรียนเรื่องนี้ เราไม่รู้ว่าเราทำอะไรกับใครไว้บ้าง”

ห้องทุกห้องในนิทรรศการถูกปกคลุมด้วยเสียง ambient ของทะเลที่เปิดพร้อมกับภาพฉายซากรถถังในห้องแรก ไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของงาน เราจะถูกย้ำเสมอว่าเรายังอยู่ที่ก้นมหาสมุทร พื้นที่ในงานทั้งงานถูกทำให้เป็นพื้นที่เดียวกันผ่านการใช้เสียง ธาดาและธนาวิตั้งใจทำให้เรารู้สึกขาดอากาศหายใจในมหาสมุทรเมื่ออยู่นานเข้า ถึงแม้ว่ามันจะเปิดเผยให้เราเห็นสิ่งมากมายที่หากมองจากบนฝั่งเราจะไม่เห็นก็ตาม และยังทิ้งคำถามไว้ในใจเราว่ายุคสมัยอเมริกันสร้างสยามส่งผลมาถึงตัวเรามากน้อยเพียงใด พวกเราได้แต่เพียงสงสัยในใจและพยายามต่ออากาศหายใจเฝ้าฝันลมๆ แล้งๆ ว่าจะโผล่พ้นน้ำในสักวันหนึ่ง