YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN

Panu Boonpipattanapong, The Momentum, 24 July 2019

YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN เศษซากสงครามและการเมืองไทยที่ถูกทิ้งให้จมอยู่ใต้ทะเล

“ผมกำลังถ่ายวิดีโอรถถังที่จมอยู่ใต้ทะเล!” 

นั่นเป็นครั้งแรกที่ ธาดา เฮงทรัพย์กูล เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับโครงการศิลปะของเขา ตอนที่เราเจอกับเขาที่นิทรรศการศิลปะ RE/FORM/ING PATANI ที่จังหวัดปัตตานี ในขณะที่เขาพักจากการทำโครงการศิลปะของเขาที่จังหวัดนราธิวาส 

หลังจากนั้น อีกเกือบปีให้หลัง เราถึงมีโอกาสได้ชมผลงานที่ว่านี้ของเขา ในนิทรรศการที่กรุงเทพฯ โดยนิทรรศการนี้เป็นการพัฒนาขึ้นจากผลงานที่เคยจัดแสดงในเทศกาล Asia Pacific Triennial of Contemporary Art ครั้งที่ 9 (APT9) ที่ Queensland Art Gallery เมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ในปี 2561-2562 และถูกนำมาแสดงอีกครั้งที่หอศิลป์ NOVA CONTEMPORARY โดยมี ธนาวิ โชติประดิษฐ เป็นภัณฑารักษ์

นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN

แรกสุด เมื่อเราเดินผ่านทางเดินมืดมิดเข้าไปภายในห้องแสดงงานของนิทรรศการ เรารู้สึกราวกับว่าภายในห้องถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโลกใต้สมุทรยังไงยังงั้น เพราะท่ามกลางความมืดภายใน บนผนังห้องฉายภาพรถถังจมอยู่ใต้ทะเล เป็นเหมือนปะการังเทียมให้ฝูงปลาแหวกว่ายอยู่รายรอบ ปากกระบอกปืนของรถถังหันจ่อมาที่ผู้ชม ให้ความรู้สึกสวยงาม น่าพิศวง และดูคุกคามไปพร้อมๆ กัน เพดานเหนือศีรษะด้านบนของห้อง มีผ้าแก้วมุกโปร่งแสงขึงปิดเอาไว้เหมือนเป็นผืนน้ำ จนทำให้เรารู้สึกเหมือนกับว่ากำลังดำดิ่งอยู่ใต้ทะเลจริงๆ แถมจมูกของเรายังได้กลิ่นทะเลอีกด้วย จะเป็นด้วยอุปาทานหรือว่าเราได้กลิ่นจริงๆ ก็ไม่รู้เหมือนกัน!

 

ธาดาเริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า ด้วยความที่เขาเติบโตขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในที่ตั้งของฐานทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ในช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้เขาทำการค้นคว้าเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ทั้งจากหอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมกับการออกสำรวจภาคสนาม ประจวบกับในช่วงรัฐประหาร เขาได้ดูสารคดีที่โปรโมตคุณงามความดีของทหาร และได้เห็นฉากหนึ่งเป็นภาพของการทิ้งรถถังลงทะเล เขาจึงหาข้อมูลต่อจนพบว่า รถถังที่ว่านี้เป็นหนึ่งในรถถังรุ่น T-69 จำนวน 25 คัน ที่กองทัพบกของไทยขนย้ายจากค่ายสุรธรรมพิทักษ์ นครราชสีมา ไปส่งมอบให้กับกรมประมง เพื่อนำไปทิ้งลงทะเลอ่าวไทย ที่จังหวัดนราธิวาส ตามโครงการพระราชดำริ แนวปะการังเทียม ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 (ปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ในปี พ.ศ. 2553 เพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล และเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย

หลังจากนั้นเขาจึงประกาศหาคนถ่ายภาพใต้น้ำทางเฟสบุ๊กและจัดหาทีมเดินทางลงไปถ่ายทำรถถังเหล่านี้ใต้ทะเลจริงๆ 

“เดิมทีกองทัพไทยซื้อรถถังนี้มาจากจีน ตอนปี 2530 เพื่อที่จะนำไปใช้ต่อสู้กับเวียดนามที่เขาพระวิหาร ในกรณีพิพาทไทย-เวียดนาม ในช่วงทศวรรษ 2520 – 2530 ซึ่งในประวัติศาสตร์กล่าวว่าอย่างนั้น แต่ตอนไปดำน้ำจริงๆ คนในพื้นที่บอกว่ารถถังแทบไม่ได้ถูกใช้เลย เพราะว่าปุ่มควบคุมเป็นภาษาจีน ไม่มีใครอ่านออก เขาซื้อมาเพื่อการทูตเฉยๆ”

นอกจากภาพอันแปลกประหลาดเหนือจริงของรถถังที่จมดิ่งอยู่ใต้น้ำ ข้อมูลและเรื่องราวของเศษซากของสงครามในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ธาดาค้นพบ และถูกนำแสดงในนิทรรศการนี้ ยังเปิดมุมมองของเราเกี่ยวกับผลพวงของสงครามในมิติที่เราอาจไม่คุ้นเคย ด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสงครามเวียดนาม ในรูปของเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยที่เราไม่เคยได้ยิน ผ่านข้อเขียนในจดหมายธรรมดาๆ ของครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง

ภาพถ่ายของจดหมายที่ว่าเหล่านี้ถูกแสดงในห้องเล็กๆ ใต้ชั้นลอยของห้องแสดงงานที่ถูกม่านดำปิดบัง ซ่อนเร้น และตัดขาดออกจากบรรยากาศของโลกใต้ทะเลในห้องแสดงงานหลักของนิทรรศการ

“จดหมายทั้ง 7 ฉบับที่จัดแสดงอยู่ เป็นจดหมายจากยุคสงครามเวียดนาม ของครอบครัวทหารที่เขียนหากัน ซึ่งผมได้มาจากบ้านของนักสะสมซึ่งเป็นพ่อค้าของเก่าที่โคราช ที่เขาเก็บภาพถ่ายกับจดหมายในยุคนั้นเยอะมาก ผมก็เลือกเอาจดหมายของครอบครัวทหารครอบครัวหนึ่ง และเอามาคัดกับพี่โป่ง (ธนาวิ/ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ) จนเหลือ 7 ฉบับ เนื้อความของจดหมายที่ตอบโต้กันของตัวทหาร ภรรยา และลูกสาว แสดงให้เห็นว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้นในช่วงนั้นบ้าง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ อย่างการที่ภรรยาเขาบอกในจดหมายว่าต้องเบิกเงินค่ารักษาลูก แต่ก็เบิกไม่ได้สักที เพราะตัวทหารก็ไม่ได้เงินอย่างที่กองทัพโฆษณาไว้ว่าจะได้เงินเดือนดี หรือเรื่องความเชื่อ ที่ภรรยากับลูกของทหารภาวนากับหลวงพ่อ ให้สามีและพ่อของเธอชนะสงคราม ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันระหว่างเรื่องราวทางศาสนา กับความรุนแรงในสงคราม”

 

จดหมายดังกล่าวยังถูกนำไปใช้ในผลงานอีกชิ้นอย่าง วิดีโอจัดวางที่ติดตั้งอยู่ตรงข้ามกับรถถังปะการังเทียมใต้สมุทร ในรูปของภาพเคลื่อนไหวในจอวิดีโอบนผนังห้องแสดงงาน ที่เป็นสีเขียวหลอมเหลวที่ดูคล้ายกับกำลังถูกหลอมละลายอยู่ ด้านล่างของจอมีถ้อยคำจากจดหมายแปลเป็นเหมือนคำบรรยายภาษาอังกฤษประกอบอยู่ด้วย

“วิดีโอชิ้นนี้ผมถ่ายภาพเสื้อทหาร แล้วนำไปขยายภาพในคอมพิวเตอร์ และเลือกเม็ดสีมาแค่พิกเซลเดียว แล้วนำไปอัดลงกระดาษอัดรูปออกมาเป็นภาพถ่าย ต่อมาผมเอาภาพถ่ายที่ว่านี้ไปละลายทิ้ง แล้วถ่ายวีดีโอบันทึกกระบวนการละลายของมันเอาไว้ ผมแค่อยากละลายสิ่งนี้ออกจากความเป็นภาพ แล้วใส่ถ้อยคำจากจดหมายของครอบครัวทหารที่ผมได้มาประกอบลงไป” 

ผลงานชุดสุดท้ายของห้องแสดงงาน ถูกจัดแสดงอยู่บนชั้นลอยกรุกระจกของหอศิลป์ เป็นภาพถ่ายเปลือยของหนุ่มสาวสี่ภาพ ที่ถูกปกคลุมด้วยคราบสกปรก ดูเหมือนเศษขยะในท้องทะเล หรือแพลงก์ตอน สิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋วในท้องสมุทร ภาพทั้งสี่ถูกวางตั้งอยู่บนพื้นห้องแสดงงานในระดับที่ผู้ชมต้องนั่งยองๆ ลงไปดูกันเลยทีเดียว

 

“ผลงานชุดนี้ต่อเนื่องจากผลงานชุดแรกที่แสดงที่ออสเตรเลีย ซึ่งผมทำเป็นหนังสือที่รวมเอาภาพถ่ายในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่ช่วงยุคสงครามเวียดนาม, พฤษภาทมิฬ และช่วงสลายการชุมนุมเสื้อแดง เพื่อให้คนที่นั่นรับรู้ว่าประเทศไทยเกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยผมทำงานร่วมกับกราฟฟิกดีไซเนอร์ ด้วยการเอารูปที่ผมเก็บไว้เป็นพันรูป ทั้งจากที่สแกนมา หามาจากอินเตอร์เน็ต หรือได้มาจากข่าวต่างๆ มาทำเป็นงานคอลลาจด้วยเทคนิคดิจิทัล โดยละลายเส้นแบ่งของภาพ แล้วนำมาปะติดปะต่อเป็นเนื้อเดียวกัน จนมาถึงหน้าท้ายๆ ที่เป็นเรื่องการสลายการชุมนุมเสื้อแดง มีคนถูกยิงเสียชีวิต ผมให้ดีไซเนอร์ยืดภาพในประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเส้นยาว ทะลุผ่านรอยกระสุนที่ผมถ่ายที่ซอยรางน้ำ (ที่ทางการบอกว่าใช้กระสุนปลอมในการสลายการชุมนุม) ไปจบลงที่สี่หน้าสุดท้าย ที่เป็นภาพเปลือยของเพื่อนๆ ของผมในช่วงเวลาปัจจุบัน บนภาพมีคราบที่เกิดจากการที่ผมใช้เศษขยะและผงฝุ่นยัดเข้าไปในกล้องฟิล์ม แล้วถ่ายรูปออกมา จนทำให้ดูเหมือนมีอะไรบางอย่างขวางกั้นระหว่างผู้ชมและแบบในภาพ เป็นการทับซ้อนกันระหว่างคนกับความทรงจำ ในหนังสือยังมีเขียนเอาไว้ว่า “This book is dedicated to those still under the water.” (หนังสือเล่มนี้อุทิศให้กับผู้ที่ยังคงอยู่ใต้น้ำ) ซึ่งก็คือคนไทยนั่นแหละ

ผมนำภาพสี่หน้าสุดท้ายในหนังสือเล่มนี้มาแสดงใหม่ ในรูปของภาพถ่าย บนชั้นลอยของห้องแสดงงานในเมืองไทย โดยผมจัดวางภาพเหล่านี้ให้อยู่ในระดับพื้น เพราะผมต้องการให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนกับว่าคนเหล่านี้กำลังจมอยู่ใต้น้ำ ถูกทำให้หยุดนิ่ง เคลื่อนไหวไปไหนไม่ได้” ธาดากล่าว

นอกจากองค์ประกอบด้านภาพต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว องค์ประกอบอันสำคัญอีกอย่างในนิทรรศการครั้งนี้คือ ‘เสียง’ ที่อบอวลอยู่ภายในบรรยากาศของห้องแสดงงาน ที่ฟังดูเผินๆ เหมือนกับเสียงที่อัดมาจากใต้น้ำ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเสียงเอฟเฟกต์ที่เกิดจากการผสมเสียงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งเป็นการทำงานของศิลปินร่วมกับ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร นักออกแบบเสียงมือวางอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ที่ทำงานกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มาอย่างยาวนานนั่นเอง

“เสียงที่ได้ยินในงานนี้จะมีทั้งเสียงป่า เสียงจิ้งหรีด เสียงแตรทหาร (จากค่ายทหารที่ราชบุรี) เสียงลมพายุ ซึ่งเสียงเหล่านี้เชื่อมโยงกับคำบรรยายในวิดีโอจอสีเขียว นอกจากนี้ยังมีเสียงคนเดินวนไปวนมาอยู่ในน้ำด้วย เพราะผมอยากให้จินตนาการถึงทหารที่อยู่ในจดหมาย ผู้เสียชีวิตในสงคราม ที่ถึงแม้จะตายไปแล้ว แต่วิญญาณของเขาก็ยังคงติดอยู่ใต้น้ำ ไม่ได้ผุดไม่ได้เกิดไปไหน”

“ชื่อของนิทรรศการ YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN ผมได้มาจากประโยคหนึ่งในเพลงชื่อ The Ocean ของ Richard Hawley ประโยคนี้ในเนื้อเพลงอธิบายความรู้สึกของผม และสภาพแวดล้อมที่ผมกำลังอาศัยอยู่ ที่เราต่างรู้สึกเหมือนถูกทิ้งให้จมอยู่ใต้น้ำ” ธาดากล่าวถึงที่มาของชื่อและแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้ของเขา

“สิ่งที่นิทรรศการครั้งนี้แตกต่างจากนิทรรศการที่ออสเตรเลียก็คือ เราอยากให้มันเป็นงานจัดวางที่ให้ความรู้สึกของการอยู่ใต้ทะเลจริงๆ เราเลยขึงเพดานด้วยผ้า เพื่อให้เมื่อเวลาผู้ชมเดินเข้ามาแล้วจะรู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ใต้น้ำ ในระดับเดียวกับรถถัง หรือบนชั้นลอย ที่ภาพถ่ายวางอยู่บนพื้น ก็เพื่อให้รู้สึกเหมือนกับมันกำลังจมอยู่ใต้น้ำเช่นกัน 

 

นิทรรศการนี้เราอยากพูดถึงเรื่องของสงครามเย็น และผลพวงของมันที่สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน เพราะถึงแม้สงครามเย็นจะจบลง แต่มันไม่ได้จบแล้วหายไปเลย แต่พวกเรา โดยเฉพาะคนในสังคมไทยก็ยังอยู่ในภาวะที่เป็นผลกระทบจากมรดกที่ตกทอดมาจากยุคนั้นอีกหลายๆ อย่าง มันเหมือนกับเรายังไม่สามารถออกจากโครงข่ายของอุดมการณ์ในยุคสงครามเย็นที่ถูกสร้างขึ้นมาได้ สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ อำนาจของทหาร หรือกองทัพไทยในปัจจุบันนั้น ได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกองทัพอเมริกันในช่วงสงครามเย็น ที่มีการเข้ามาตั้งฐานทัพ มีการร่วมมืออะไรต่างๆ เพราะฉะนั้น สถานภาพของกองทัพไทยในปัจจุบันมันก็เป็นผลพวงของสงครามเย็น ซึ่งเราเองก็เห็นๆ กันอยู่ว่ามันส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนในปัจจุบันอย่างไรบ้าง 

ภาพถ่ายของคนในชั้นลอยก็เป็นคล้ายๆ กับตัวแทนของพวกเรา ที่เป็นคนในปัจจุบันที่หนีไม่พ้นจากมรดกเหล่านี้” ธนาวิ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ กล่าวทิ้งท้ายถึงแก่นความคิดเบื้องหลังนิทรรศการครั้งนี้

หลังจากได้ดูและได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับนิทรรศการนี้ แล้วนึกถึงสภาวะอันอึมครึมมืดมนเหมือนติดอยู่ใต้ก้นทะเลไร้ทางไป ของสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน ก็ได้แต่นึกทอดถอนใจ ว่า เมื่อไหร่ประชาชนคนไทยอย่างเราๆ จะได้โผล่พ้นน้ำกับเขาบ้างเสียที?

นิทรรศการ YOU LEAD ME DOWN, TO THE OCEAN จัดแสดงที่หอศิลป์ NOVA CONTEMPORARY ชั้นล่างของบ้านสมถวิล ซอยมหาดเล็กหลวง 3 (ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชดำริ) ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน – 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เปิดให้เข้าชมฟรีตั้งแต่วันอังคาร – อาทิตย์ เวลา 11.00-19.00 น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.novacontemporary.com  facebook Nova Contemporary โทรศัพท์ 090 910 6863 

ข้อมูล 

ขอบคุณข้อมูลจาก Nova Contemporary, บทความประกอบนิทรรศการ ‘ใต้มหาสมุทร’ โดย ธนาวิ โชติประดิษฐ, บทสัมภาษณ์ศิลปินและภัณฑารักษ์ โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ขอบคุณภาพจาก Nova Contemporary, ธาดา เฮงทรัพย์กูล


FACT BOX

ธาดา เฮงทรัพย์กูล คือ ศิลปินไทยร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เขาจบการศึกษาด้านการถ่ายภาพจากวิทยาลัยเพาะช่าง ธาดาเป็นที่รู้จักจากผลงานภาพถ่ายและวิดีโออันสุดแสนท้าทายด้วยการนำเสนอภาพเปลือยภายใต้สถานการณ์เหลวไหลไร้สาระ และอารมณ์ขันเสียดสีประเด็นทางสังคมการเมืองต่างๆ

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาหันมาสนใจกับการทำงานศิลปะจัดวางที่สร้างบรรยากาศอันดื่มด่ำระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ชมกับผลงาน รวมทั้งดึงผู้ชมให้เข้าสู่สุนทรียะของสภาพแวดล้อมแบบทหาร

เขาอธิบายบริบทการทำงานของตัวเองว่า “ในตอนนี้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตที่ควบคุมคนจำนวนมากที่ออกมาเรียกร้องสิทธิและเสรีภาพ” ปฏิบัติการทางศิลปะของธาดาอาศัยการศึกษาค้นคว้าระยะยาวจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ตลอดจนการทุ่มเทให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมทางสื่อและชุมชนเฉพาะต่างๆ

ธาดาเกิดที่จังหวัดนครราชสีมา อันเป็นที่ตั้งของฐานทัพอเมริกันมาตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน มรดกทางวัฒนธรรมและการเมืองจากยุคสมัยดังกล่าวที่ตกค้างอยู่ในชุมชมเป็นแหล่งแรงบันดาลใจสำคัญในงานศิลปะของเขา แง่มุมเกี่ยวกับ 'วิกฤต' ในปัจจุบันของประเทศไทยนั้นเชื่อมโยงกับทั้งประวัติศาสตร์ในภูมิภาค สงครามเย็นในระดับโลก ตลอดจนกระบวนการปลดปล่อยอาณานิคมและการทำให้เป็นสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 ธาดามีงานแสดงทั้งในและต่างประเทศ และเป็นศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ปรากฏในการจัดอันดับคนรุ่นใหม่ผู้น่าจับตา (30 Under 30 Asia List) โดยนิตยสาร Forbes ในปี 2016